รู้เท่าทันกับเชื้อราในสุนัขและแมว

สัปดาห์ก่อนเราได้อ่านเรื่องราวของคุณ Dollarmom กับน้องหมาที่เป็นเชื้อรากันไปแล้วนะครับ หลังจากนั้นผมก็ไปค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมมา เลยไปพบบทความที่น่าสนใจ ของ สพ.ญ.อาภาพร เพียรรุ่งโรจน์ เลยนำมาฝากกันครับ

หลายคนคงเคยสงสัยว่าสุนัขและแมวของเรามีอาการคัน ขนร่วงนั้นเป็นเพราะเชื้อราหรือเปล่า? ถ้าเป็นแล้วจะรักษาอย่างไร? ติดต่อมาสู่คนได้หรือไม่? ควรดูแลสุนัขและแมวของเราอย่างไร? …คิดไปคิดมาเริ่มจะสับสน ถ้าอย่างนั้นมาทำความรู้จักกับเชื้อราในสุนัขและแมวกันดีกว่า

Q : สุนัขและแมวที่เป็นเชื้อราจะมีอาการแสดงอย่างไร? 

A : สุนัขและแมวที่มีปัญหาเชื้อราจะมีขนร่วง โดยอาจร่วงเป็นวงเพียงวงเดียว หลายวง หรือกระจายทั่วไป โดยอาจพบร่วมกับสะเก็ด รังแค ผื่นแดง ตุ่มแดง หรือขนมันได้ ในบางรายอาจมีการติดเชื้อราบริเวณเล็บร่วมด้วย ซึ่งสุนัขและแมวอาจแสดงอาการคันหรือไม่คันก็ได้ หากมีอาการคันมักพบว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย ส่วนบางรายที่มีการติดเชื้อราในผิวหนังชั้นลึกจะพบว่าผิวหนังเป็นตุ่มใหญ่หรือเป็นก้อนบวมนูนลักษณะคล้ายเนื้องอก ภายในอาจมีก้อนหนองและมีการอักเสบร่วมด้วย ซึ่งการติดเชื้อราในผิวหนังชั้นลึกนั้นพบได้น้อยกว่าการติดเชื้อราของผิวหนังชั้นตื้นทั่วไป นอกจากนี้สุนัขและแมวที่มองภายนอกเห็นว่าขนสวยตามปกตินั้นอาจมีเชื้อราแฝงอยู่ได้เช่นกันเพียงแต่ไม่แสดงอาการทางผิวหนัง แต่สามารถเป็นพาหะในการแพร่กระจายเชื้อราให้สัตว์อื่นหรือคนได้ โดยจะพบได้บ่อยในแมวเปอร์เซีย และสุนัขพันธุ์ Yorkshire Terrier

Q : สุนัขและแมวกลุ่มใดที่มีโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อรา

A : การติดเชื้อรานั้นมีองค์ประกอบหลายอย่าง โดยองค์ประกอบหลักคือ สุขภาพร่างกายของสุนัข-แมว ภาวะภูมิคุ้มกัน และจำนวน-ชนิดของเชื้อรา หากสุขภาพร่างกายของสุนัขและแมวไม่แข็งแรง เช่น เป็นลูกสัตว์หรือมีอายุมาก มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำหรืออยู่ในสภาวะถูกกดภูมิคุ้มกันจากโรคที่เป็นอยู่หรือจากการใช้ยาบางชนิด การขาดอาหารหรือการได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ความเครียด ฯลฯ หากร่วมกับการได้รับเชื้อราชนิดที่ก่อโรคและได้รับเชื้อราเป็นจำนวนมากนั้นล้วนมีส่วนทำให้สุนัขและแมวมีปัญหาติดเชื้อราได้

Q : เราจะทราบได้อย่างไรว่าสุนัขและแมวมีปัญหาเชื้อรา

A : สุนัขและแมวที่มีอาการทางผิวหนัง เช่น คัน ขนร่วง ผื่นแดง ตุ่มแดง สะเก็ด รังแค ขนมัน ฯลฯ จะมีอาการที่คล้ายคลึงกันหลายโรค เช่น ผิวหนังอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ปรสิตภายนอก ภาวะภูมิแพ้ (แพ้น้ำลายหมัด, แพ้สิ่งสัมผัส, แพ้อาหาร, ภูมิแพ้) ไรขี้เรื้อนขุมขน ภาวะภูมิคุ้มกันทำลายผิวหนังตนเอง ฯลฯ เมื่อสัตว์เลี้ยงมีอาการทางผิวหนังดังกล่าว เจ้าของจึงควรพาสุนัขและแมวไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงและทำการรักษา ไม่ควรใช้ยาเองเนื่องจากการใช้ยาไม่ถูกกับโรคนั้นนอกจากสุนัขและแมวของเราจะไม่หายจากอาการผิดปกติที่เป็นอยู่ แต่อาจทำให้เกิดผลเสียหรือผลข้างเคียงจากการใช้ยา และอาจทำให้อาการลุกลามมากยิ่งขึ้นได้ โดยวิธีการวินิจฉัยว่าสุนัขและแมวมีปัญหาเชื้อรานั้นมีหลายวิธี ได้แก่ การตรวจเส้นขน การใช้หลอด UV ตรวจสารเรืองแสงจากเชื้อราบางชนิด การตรวจชิ้นเนื้อ การเพาะเชื้อรา ฯลฯ ซึ่งการเพาะเชื้อรานี้เป็นวิธีมาตรฐานในปัจจุบันที่แม่นยำที่สุดในการวินิจฉัยปัญหาโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา และที่สำคัญสุนัขและแมวไม่เจ็บจากการตรวจด้วยวิธีนี้ โดยสัตวแพทย์จะนำเส้นขนและสะเก็ดรังแคจากบริเวณที่สงสัยไปเพาะในอาหารเลี้ยงเชื้อรา รอผลประมาณ 10 วัน หากมีปุยเชื้อราขึ้นในอาหารเลี้ยงเชื้อร่วมกับสีของอาหารเปลี่ยนไปตามที่ชุดเพาะเลี้ยงเชื้อรากำหนด (จากสีเหลืองเป็นสีแดง) นั้นถือว่าเป็นผลบวก ซึ่งสัตวแพทย์จะทำการตรวจแยกในขั้นต่อไปว่าเป็นเชื้อราก่อโรคชนิดใด

Q : หากสุนัขและแมวเป็นเชื้อราต้องได้รับการรักษาหรือไม่ อย่างไร?

A : ในสุนัขและแมวที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง และมีปัญหาการติดเชื้อราเพียงเล็กน้อยและไม่ลุกลามนั้น อาจหายเองได้โดยภูมิคุ้มกันของสัตว์เองที่มีต่อเชื้อรา โดยใช้ระยะเวลาเฉลี่ยประมาณ 10 – 16 สัปดาห์หากไม่ได้รับการรักษา แต่หากทำการรักษาจะช่วยลดระยะเวลาของการติดเชื้อให้สั้นลง ลดการแพร่กระจายของเชื้อราสู่คน สัตว์อื่นๆ และสิ่งแวดล้อม โดยการรักษาที่ดีที่สุดนั้นควรประกอบด้วย

1. การใช้ยาเฉพาะที่หรือแชมพูกำจัดเชื้อรา เพื่อฆ่าเชื้อราและสปอร์ของเชื้อราบนตัวสัตว์ ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อราสู่สิ่งแวดล้อม

2. การใช้ยารับประทานเพื่อฆ่าเชื้อรา โดยมีวัตถุประสงค์ให้การติดเชื้อไม่ลุกลาม และลดระยะเวลาของการติดเชื้อให้สั้นลง

3. การใช้น้ำยาที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อราทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมที่สุนัขและแมวอยู่ เพื่อลดโอกาสการกลับมาติดเชื้อซ้ำและลดการแพร่กระจายของเชื้อราสู่คนและสัตว์อื่นๆ

โดยใช้ระยะเวลาในการรักษาต่อเนื่องกันอย่างน้อย 4 – 6 สัปดาห์ และประเมินผลการรักษากับสัตวแพทย์เป็นระยะ โดยสุนัขและแมวที่มีขนกลับมาขึ้นเต็มเป็นปกติแล้วอาจยังมีการติดเชื้อราหลงเหลืออยู่ได้และสามารถเป็นพาหะเก็บกักเชื้อไว้ในตัวได้อีก ดังนั้นจึงควรปรึกษาสัตวแพทย์ถึงแนวทางในการรักษาที่เหมาะสมเป็นแต่ละกรณีไป

Q : ยาที่ใช้ในการรักษาเชื้อราแบบรับประทานมีผลข้างเคียงต่อสุนัขและแมวหรือไม่

A : ยาที่ใช้ในการรักษาเชื้อรามีหลายชนิดขึ้นอยู่กับกลไกการออกฤทธิ์และผลข้างเคียงของยา ซึ่งการรักษาเชื้อราในปัจจุบันมักจะเลือกใช้ยาที่ค่อนข้างปลอดภัยต่อสุนัขและแมว (ส่วนใหญ่เป็นยาที่ใช้ในการรักษาเชื้อราในคน) เนื่องจากต้องใช้ยาต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน ดังนั้นหากสุนัขหรือแมวมีปัญหาสุขภาพอื่นๆ ร่วมด้วยจึงควรตรวจร่างกายและตรวจเลือดเพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจของสัตวแพทย์ในการพิจารณาเลือกวิธีการรักษาให้เหมาะสมกับสุนัขและแมวของเราก่อนทำการรักษา

Q : การดูแลสุนัขและแมวที่มีปัญหาเชื้อรานั้นมีข้อควรปฏิบัติอย่างไร

A : สุนัขและแมวที่มีปัญหาเชื้อรานั้นควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในรายที่เป็นลูกสัตว์หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ หากมีสุนัขหรือแมวหลายตัวที่เลี้ยงรวมกันในบ้านนั้นควรแยกตัวที่เป็นออกเพื่อลดการกระจายเชื้อไปยังตัวอื่นๆ ด้วย และหากเป็นสุนัขหรือแมวที่มีขนยาวควรตัดขนสั้นเพื่อจำกัดการกระจายของเชื้อราและให้ง่ายต่อการใช้แชมพูยาหรือยาฆ่าเชื้อราเฉพาะที่ด้วย ส่วนสุนัขและแมวตัวอื่นที่เลี้ยงร่วมกันแต่ยังไม่ได้แสดงอาการทางผิวหนังนั้นควรปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อทำการตรวจ เนื่องจากในบางรายมีการติดเชื้อราแต่ยังไม่มีอาการแสดงทางคลินิก ซึ่งควรได้รับการรักษาไปพร้อมๆ กัน นอกจากนี้เจ้าของควรดูแลสุขภาพร่างกายของตนให้แข็งแรงและรักษาความสะอาดอยู่เสมอ เนื่องจากเชื้อราก่อโรคในสุนัขและแมวสามารถติดต่อมาสู่คนได้โดยเฉพาะในเด็กเล็ก คนสูงวัย มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เครียด ฯลฯ ส่วนการทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องใช้ของสุนัขและแมว และของใช้ในบ้านนั้นควรหมั่นทำความสะอาดเป็นประจำโดยใช้น้ำยาที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อรา เช่น น้ำยาซักผ้าขาว สเปรย์ฆ่าเชื้อรา เป็นต้น ซึ่งความถี่ของการทำความสะอาดควรเป็นทุกวันหรือวันเว้นวัน และควรทำต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือนภายหลังจากสุนัขและแมวหายจากปัญหาเชื้อราแล้วเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำอีกในภายหลัง

สรุปแล้วหากสุนัขและแมวของเรามีปัญหาเชื้อราหรือสงสัยว่าจะเป็นเชื้อรา ควรปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาเนื่องจากเชื้อราเป็นโรคที่สามารถติดต่อจากสัตว์มาสู่คนได้ โดยการรักษานั้นประกอบด้วยหลายวิธีร่วมกันจึงจะได้ผลดีในการรักษา ร่วมกับการดูแลของเจ้าของ เช่น การอาบน้ำ การทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมในบ้าน ฯลฯ เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้สุนัขและแมวที่รักของเราหายจากปัญหาเชื้อราได้เร็วยิ่งขึ้น

by สพ.ญ.อาภาพร เพียรรุ่งโรจน์ โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขอบคุณภาพประกอบจาก kah.kasetanimalhospital.com

Tags: , , , , , , ,

Leave a Reply